Am BANK GROUP-CROSS CREEK-SPORTEXCEL
INTERNATIONAL JUNIOR GOLF CHAMPIONSHIP 2007
17-19 December 2007
Kelap Rahman Putra Malaysia
กลับจากสิงคโปร์เครื่องบินลงแตะรันเวย์ที่สนามบินเชียงใหม่ประมาณหนึ่งทุ่ม ของวันศุกร์ที่ 14 ธ.ค.50 กลับถึงบ้านก็ต้องรีบเอาเสื้อผ้าชุดเก่าออก เตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่ยัดใส่กระเป๋าเดินทาง สำหรับคุมเด็กอีกหนึ่งชุด เพื่อไปแข่งกอล์ฟอีกหนึ่งรายการที่ประเทศมาเลเซียในวันรุ่งขึ้น
7โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น ตามเวลานัดหมายที่สนามบินเชียงใหม่ ชุดนี้มีนักกอล์ฟ 8 คน ประกอบด้วย
โอ๊ด นายวรวัฒน์ วนิชยาโกศล จังหวัดกำแพงเพชร
พอช ด.ช.หิรัญญ์ ศิริวัฒน์ปิติวงศ์ จังหวัดเชียงใหม่
ปอน ด.ช.พีระพัฒน์ แจ่มหม้อ จังหวัดเชียงใหม่
เอส ด.ช.ศุภณัฐ วิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่
กาย ด.ช.ชวิศ แต้ประจิตร จังหวัดเชียงใหม่
โจ้ ด.ช.พงศ์พัฒน์ ห่อตระกูล จังหวัดแม่ฮ่องสอน
อ้อม ด.ญ.ปิยะธิดา พลอยอ่ำศรี จังหวัดแพร่
วาย ด.ญ.ณัฐเกศ นิมิตรพงษ์กุล จังหวัดลำปาง
โดยมีป้าตู๋กับโปรแจ๊คควบคุมทีมเช่นเดิม แล้วก็มีโปรประหยัด สิทธิมงคล จากแม่ฮ่องสอน เป็นผู้ติดตามมาดูแลน้องโจ้อีกหนึ่งคน งานนี้คุยกับป้าตู๋แล้วเหนื่อยแน่ เพราะเด็กชุดนี้ส่วนมากเป็นนักกอล์ฟคลาสซี เจ้าตัวเล็กทั้งหลายและท่าทางพลังสูงซะด้วย และเกือบทุกคนเพิ่งเป็นครั้งแรกที่ได้ออกไปแข่งกอล์ฟต่างประเทศ ตอนแรกว่าจะหาเชือกมาผูกที่ข้อเท้าไว้ให้ติดกันเป็นแพ กันหลง แต่ก็ล้มเลิกไป คิดว่าเด็กๆของเราเก่งพอ น่าจะเอาตัวรอดได้
คณะเราไปสมทบกับคณะกรุงเทพที่สนามบินสุวรรณภูมิเช่นเดิม 6โมงเย็นเครื่องบินก็เหินฟ้าพาคณะของเราสู่ประเทศมาเลเซีย ถึงสนามบินที่มาเลเซียเวลาท้องถิ่นคือ 3ทุ่ม เวลาของประเทศมาเลเซียจะเร็วกว่าที่บ้านเรา 1 ชั่วโมง เหมือนกับสิงคโปร์
จากอาคารที่ลงจากเครื่องบิน ต้องขึ้นรถไฟฟ้าไปยังอีกอาคารหนึ่งเพื่อผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง แล้วก็มีคนของผู้จัดการแข่งขันมารับเพื่อจะไปส่งที่โรงแรมที่พัก แต่สำหรับแม็ทช์การแข่งขันที่มาเลเซีย เราต้องเสียค่าใช้จ่ายเองสำหรับการเดินทางทั้งหมด ไม่ฟรีเหมือนที่สิงคโปร์ ที่ฟรีตลอด
สนามบินอยู่ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมาเลเซียประมาณ 50 กิโลเมตร ใช้เวลา 45 นาทีก็มาถึงที่พัก โรงแรมไดนัสตี้เป็นโรงแรมที่คณะจัดการแข่งขันจัดไว้ให้พวกเราเข้าพัก ซึ่งว่ากันว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว แต่กาลเวลาที่ผ่านพ้นไป ก็เลยทำให้ดาวทั้งหลายค่อยๆร่วงหล่นลงมา ปัจจุบันเหลือสัก 2 ดาวก็เก่งเต็มทนแล้ว เพราะเก่ามากและคงไม่ได้ดูแลสักเท่าไหร่ กว่าจะได้เข้าพักกันก็เกือบๆตีหนึ่ง ส่วนโปรแจ๊คกับโปรประหยัดหลังจากดูแลเด็กๆจนได้ห้องพักแล้ว ปรากฎว่าคืนนี้ไม่ได้ห้องพัก ต้องเข้าไปปูผ้านอนกับพื้นห้องกับพวกเด็กๆผู้ชาย แล้วก็เป็นเวลาเกือบจะตีสามถึงจะได้เอนหลังลงนอนแบบเซ็งๆ เซ็งกับการจัดการของโรงแรมที่ไม่ดีเลย ก็ต้องรอลุ้นว่าทางเจ้าหน้าที่ของโรงแรมจะจัดห้องให้เราได้หรือไม่...มันสุดยอดจริงๆ
ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งสำหรับการเดินทางไปยังต่างประเทศ ต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับกับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง ซึ่งมันไม่ควรที่จะเกิดขึ้น เพราะไม่ใช่บ้านเรา ทำอะไรค่อนข้างลำบากหากเกิดปัญหาขึ้น ที่ดีที่สุดคือตัวเราเองต้องพร้อม และไม่ประมาท โดยเฉพาะเรื่องของการนัดหมายและตารางเวลาต่างๆ
เช้าวันแรก หลังอาหารเช้า ก็มีรถมารับเพื่อไปซ้อมที่สนาม ตกลงว่างานนี้ทีมเราจากภาคเหนือ ได้รถตู้เป็นยานพาหนะ 1 คัน ไว้รับส่งตลอดทัวร์นาเม้นท์ ก็สะดวกดี ส่วนทีมจากกรุงเทพใช้รถบัสคันใหญ่เพราะคนมากกว่า
สนาม Kelap Rahman Putra เป็นสนามขนาด 36 หลุม แบ่งเป็น 2 Course คือ The Hills กับThe Lakes โดยผู้จัดการแข่งขันจัดให้คลาส E แข่งวันละ 9 หลุมเท่านั้น และใช้สนามด้าน The Hills ส่วนคลาส A,B,C,D แข่งวันละ 18 หลุม ใช้สนามด้าน The Lakes
Kelap Rahman Potra เป็นสนามภูเขา ขึ้นๆลงๆเขาโดยตลอด คล้ายๆกับที่ SICC สิงคโปร์ แต่ดูว่า SICC จะโหดกว่าชันกว่านิดหน่อย แฟรเวย์ก็จะเป็นหญ้ามาเลเซีย กรีนเป็นคลื่นรอนแต่สมบูรณ์...เรียบ เลยทำให้ต้องใช้จินตนาการมากพอสมควรในการพัท เมื่อพูดถึงลักษณะของกรีนแล้ว เด็กจากภาคเหนือของเราค่อนข้างจะเสียเปรียบนักกอล์ฟจากที่อื่น เพราะสนามกอล์ฟแถวๆภาคเหนือ ลักษณะกรีนที่เป็นคลื่นรอนมากๆและมีขนาดใหญ่ไม่ค่อยมี หรืออย่างที่เขาเรียกกันว่ากรีนในระดับแชมเปี้ยนชิพหาได้น้อยมาก ที่เห็นว่าน่าจะใกล้เคียงก็มีที่สนามกัซซันมารีน่า ที่ชมรมฯเพิ่งจัดการแข่งขันไปในครั้งล่าสุด แต่ช่วงนี้สภาพสนามและกรีนยังไม่สมบูรณ์ คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร
กลับมาที่สนาม Kelap Rahman Putra กันต่อ จากสภาพที่เป็นภูเขาแล้ว แฟรเวย์ยังค่อนข้างแคบ และต้องวางแผนการเล่นให้ดีตั้งแต่บนแท่นตั้งที เพราะหลายหลุมมีอุปสรรคน้ำมาดักไว้ด้านหน้า จะตีข้ามไม่ได้ ต้องตีวางตัว และขึ้นช็อทสองในระยะที่ไกล การวัดระยะก็วัดเป็นเมตรหเมือนกับที่สิงคโปร์ ต้องแปลงเป็นหลาเสียก่อนสำหรับพวกเรา เพื่อความคุ้นเคย และที่เหมือนกันอีกอย่างคือเรื่องของแค้ดดี้ ที่สนามมีแค้ดดี้แค่ 10 คน ทางผู้จัดการแข่งขันจึงอนุญาตให้ผู้ปกครองที่ติดตามมาเป็นแค้ดดี้ให้กับลูกหลานของตัวเองได้ และอนุญาตให้ใช้รถกอล์ฟได้อีกด้วย แต่ต้องวิ่งบนถนนเท่านั้นและห้ามนักกอล์ฟนั่ง ซึ่งใช้ได้กับคลาส C,D,E เท่านั้น ส่วน คลาส A,B ก็ต้องลากหรือแบกเอง...ตามระเบียบ
เรื่องการต้องแบกถุงกอล์ฟเองนั้น ชาวเหนืออย่างเราก็เลยโชว์เหนือซะเลย คือเด็กของเราทุกคน แบกเองครับ ขอย้ำ...แบกครับ..แบก ไม่ใช้รถลาก จะมีก็น้องวาย เจ้าตัวเล็กจากลำปางที่โปรแจ๊คอาสา(แบบโดนบังคับ)แบกถุงให้ กับน้องโจ้ ณ แม่ฮ่องสอน ที่ได้โปรประหยัดมาแบกให้เช่นกัน นอกนั้นแบกกันเองหมด ทั้ง พอช,ปอน,เอส,กาย,อ้อม และก็พี่โอ๊ด
แต่สำหรับวันซ้อม ผู้จัดการแข่งขันบังคับให้ใช้รถกอล์ฟเท่านั้น เพราะกลัวว่าจะล่าช้า ก็เลยสบายไป (สำหรับโปรแจ๊คเอง...ไม่เหนื่อย) อัตราค่าเช่ารถกอล์ฟ 66 ริงกิต ซึ่งเป็นสกุลเงินของประเทศมาเลเซีย 1 ริงกิต ประมาณ 10 บาท ค่ากรีนฟีที่สนามนี้วันธรรมดา 1,200 บาท วันหยุด 1,500 บาท ก็พอๆกับที่บ้านเรา รวมทั้งค่าครองชีพต่างๆก็ใกล้เคียงกับบ้านเมืองเรา ข้าวมันไก่บนคลับเฮ้าท์ราคา 7 ริงกิต กาแฟร้อนถ้วยละ 2 ริงกิต...
การซ้อมวันแรกก็โดนฝนเล่นงาน จนซ้อมกันไม่ครบรอบ ได้ 15 หลุมก็ต้องยกเลิก กลับโรงแรมที่พัก
ซึ่งโปรแจ๊คกับโปรประหยัดได้ห้องพักเป็นที่เรียบร้อย คณะจากกรุงเทพมีป้าอ้อยกับป้าต้อยเป็นผู้ควบคุมทีม และทีมงานโปรอีก 3 คน คือ โปรกอล์ฟ , โปรเขียด , โปรจอห์น ก่อนแยกย้ายกันพักผ่อน ก็มีการประชุมทำความเข้าใจ ในเรื่องของรายละเอียดของการแข่งขันและกำหนดการต่างๆ ในบริเวณล็อบบี้ของโรงแรม
บักก้วยเต๋ อาหารจีนชื่อแปลก ซึ่งร้านอยู่ติดกับโรงแรม พวกเราใช้จัดการเป็นอาหารเย็นในวันนี้ บักก้วยเต๋ ก็คล้ายกับต้มหมูตุ๋น ใส่ซี่โครงและหมูสามชั้น เครื่องเทศ เห็ดหอม เห็ดเข็ม ผักกาดหอม เสริฟมาในถ้วยดินเผาที่ร้อนจัด ขนาดเมื่ออยู่บนโต๊ะน้ำซุปยังเดือดพล่านอยู่เลย ที่สำคัญรสชาติดีมาก ถูกปากทุกๆคน โดยเฉพาะน้องปอน ที่ซัดจนพุงกาง
เช้าวันรุ่งขึ้น ทุกคนตื่นตี 5 ซึ่งเป็นวิถีอันปกติของนักกอล์ฟเยาวชนของเรา อาหารเช้าที่โรงแรมจัดให้ตอนตี 5 ครึ่ง 6 โมงเช้ารถตู้มารับไปสนามกอล์ฟ ซึ่งตารางเวลาจะเป็นอย่างนี้ทุกวันตลอดทัวร์นาเม้นท์
วันแรกของการแข่งขัน ทุกคนก็ยังดูแข็งขัน...พอไหว จะมีก็สกอร์ที่จะสูงกว่ามาตรฐานของตัวเองนิดหน่อย ที่ว่า...สูงกว่ามาตราฐาน คือแต้มมันมากนะ อย่าเข้าใจผิด ก็คงเพราะเกือบทุกคนไม่เคยต้องแบกถุงเองในสภาพสนามที่เป็นภูเขาอย่างนี้ มันก็เลยหน้ามืดตาลายไปบ้าง สกอร์ที่ยังติดในกลุ่มผู้นำก็มีของ โจ้,กาย แล้วก็พี่โอ๊ด ส่วนคนอื่นๆ ลุ้นอยู่ห่างๆ ถึงห่างมาก...
วันที่สอง...วันนี้ปอนได้โปรเขียดจากกรุงเทพ มาเป็นแค๊ดดี้ให้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจของน้องปอนมาก เพราะโปรเขียดนี่เองที่เป็นโค้ชใหญ่ของทีมกอล์ฟทีมชาติไทย ผลงาน 4 เหรียญทองประวัติศาสตร์ในกีฬาซีเกมส์ที่นครราชสีมา ที่เพิ่งจบไปสดๆร้อนๆ แต่...แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มากกับสกอร์ของปอน ยังพาโปรเขียดออกไปเที่ยวทะเลด้วยกันเหมือนเดิม แต่ก็เชื่อได้ว่างานนี้ น้องปอนก็คงได้รับวิทยายุทธจากโปรเขียดมาเต็มกระบุง ในเรื่องของการวางแผนการเล่น และการควบคุมสมาธิของตัวเองในระหว่างการแข่งขัน ซึ่งตรงนี้ทีมงานจากภาคเหนือของเรา ก็ต้องขอขอบพระคุณโปรเขียดมา ณ ที่นี้ด้วย ที่ให้ความกรุณาและเอ็ดดูเด็กๆของเรา
สรุปผลการแข่งขันวันที่สอง กาย,โจ้,โอ๊ด ยังมีลุ้นอยู่บ้างกับรางวัลที่ 4-5 (แต่ละคลาสมีทั้งหมด 5 รางวัล) สำหรับวันสุดท้าย ก็เลยต้องมีการจัดทัพกันใหม่นิดหน่อย โจ้นั้นมีโปรประหยัดช่วยอยู่แล้ว ส่วนโอ๊ดซึ่งอยู่ในคลาสB ก็ต้องช่วยเหลือตัวเองไปตามปกติ โดยมีทุกคนเอาใจช่วยอย่างเต็มที่ โปรแจ๊คก็เลยต้องมาแบกถุงให้กับน้องกาย ที่พอมีลุ้นอันดับที่4-5 อยู่บ้าง ส่วนน้องวาย ได้แค๊ดดี้กิตติมศักดิ์มาดูแลให้ ก็คือป้าตู๋นั่นเอง ทีแรกป้าตู๋แกบอกว่าจะขอแบกถุงเอง คล้ายว่าจะโชว์เหนือ แต่พวกเด็กๆต้องขอร้องกันเป็นการใหญ่ ว่าอย่าเลยป้า...เดี๋ยวจะเอาชีวิตมาทิ้งไว้ที่มาเลเซียเปล่าๆ ต้องช่วยกันอ้อนวอนกันเป็นการใหญ่ จนแกใจอ่อน ยอมที่จะใช้รถกอล์ฟใส่ถุงน้องวายไป
เย็นหลังจากแข่งวันที่สอง วันนี้พวกเราได้นั่งรถ TAXI เข้าไปในกลางตัวเมืองกัวลาลัมเปอร์กัน ไหนๆก็มาต่างบ้านต่างเมืองแล้ว ก็ต้องเปิดหูเปิดตา ดูบ้านดูเมืองเขาหน่อย ที่ที่เราไปก็คือ ตึกปิโตรนัส ซึ่งเป็นตึกแฝดที่สูงที่สุดในโลก เป็นสิ่งที่ประเทศมาเลเซียภาคภูมิใจอย่างมาก ภายในตัวตึกก็จะเป็นสำนักงานเสียส่วนมาก แล้วก็มีห้างสรรพสินค้าด้วย มื้อเย็นพวกเราก็ฝากท้องไว้กับ Food Center ภายในตัวตึกปิโตรนัส และบางคนก็ช็อปปิ้งกันนิดหน่อย ก่อนกลับก็ถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึกกับเจ้าตึกแฝดแห่งนี้
วันที่สาม วันสุดท้ายของการแข่งขัน สภาพอากาศดีมาก แดดจัด เล่นเอาหน้าแห้มแก้มไหม้กันไปตามๆกัน และน้องกายก็ไม่ทำให้พวกเราผิดหวัง (และเสียหน้า) คว้าอันดับที่ 5 มาได้ อย่างต้องลุ้นกันทุกช็อท
ไม่กลับบ้านมือเปล่าแล้ว...พวกเรา โดยผลงานของทุกคนมีดังนี้
โอ๊ด นายวรวัฒน์ วนิชยาโกศล คลาส B ได้อันดับที่ 12 สกอร์ 238 คะแนน (80,77,81)
พอช ด.ช.หิรัญญ์ ศิริวัฒน์ปิติวงศ์ คลาส B ได้อันดับที่ 24 สกอร์ 287 คะแนน (96,93,98)
ปอน ด.ช.พีระพัฒน์ แจ่มหม้อ คลาส D ได้อันดับที่ 16 สกอร์ 258 คะแนน (87,85,86)
เอส ด.ช.ศุภณัฐ วิทยาคม คลาส D ได้อันดับที่ 13 สกอร์ 253 คะแนน (87,81,85)
กาย ด.ช.ชวิศ แต้ประจิตร คลาส D ได้อันดับที่ 5 สกอร์ 244 คะแนน (84,79,81)
โจ้ ด.ช.พงศ์พัฒน์ ห่อตระกูล คลาส D ได้อันดับที่ 9 สกอร์ 247 คะแนน (83,81,83)
อ้อม ด.ญ.ปิยะธิดา พลอยอ่ำศรี คลาส C ได้อันดับที่ 19 สกอร์ 255 คะแนน (88,83,84)
วาย ด.ญ.ณัฐเกศ นิมิตรพงษ์กุล คลาส D ได้อันดับที่ 32 สกอร์ 292 คะแนน (98,101,93)
วันเดินทางกลับ พวกเราต้องตื่นกันตั้งแต่ตี4 รถมารับตอนตี 4 ครึ่ง ต้องทำเวลาให้ได้ อย่างที่บอกไว้แต่แรกว่า ต้องเตรียมตัวให้พร้อมและเผื่อเวลาสำหรับการผิดพลาดไว้บ้าง เพราะหากเกิดข้อผิดพลาด มันจะแก้ไขลำบาก ไม่ใช่บ้านเมืองของเรา ก็โชคดี แม้จะมีปัญหาอยู่บ้างแต่ก็แก้ไขให้ผ่านไปได้ด้วยดีสำหรับการเดินทางในครั้งนี้ เครื่องบินออกจากสนามบินที่มาเลเซีย 7 โมงเช้า กลับสู่เมืองไทย บ้าย...บาย...มาเลเซีย.
เป็นสองทัวร์นาเม้นท์ติดต่อกัน ที่ชมรมส่งเสริมนักกอล์ฟเยาวชนไทน(ภาคเหนือ) ได้ส่งนักกอล์ฟเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันกอล์ฟยังต่างประเทศ คือสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งเชื่อได้ว่าทั้งนักกอล์ฟและผู้ควบคุมทีมอย่างป้าตู๋และโปรแจ๊ค ต่างก็ได้ประสบการณ์มาอีกมาก เพื่อที่จะนำไปพัฒนาและแก้ไขในส่วนต่างๆ ว่าในการเดินทางเพื่อที่จะส่งนักกอล์ฟไปแข่งทั้งในและต่างประเทศในครั้งต่อๆไป ต้องเตรียมตัวเตรียมความพร้อมอย่างไร เพื่อจะได้ประสบความสำเร็จทั้งในด้านผลการแข่งขันและในด้านของการเดินทาง
ในด้านของนักกีฬา โปรแจ๊คเห็นว่า นักกีฬาต้องมีการเตรียมตัวให้มากขึ้น ที่สำคัญคือสภาพร่างกาย ต้องแข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่ พร้อมทั้งต้องฝึกลากหรือแบกถุงกอล์ฟเองบ้างเวลาออกรอบ ตามแต่โอกาสที่อำนวยให้ รวมทั้งข้อควรปฏิบัติต่างๆ เช่นการกลบรอยDivot การยกธงการปักธง การเกลี่ยทราย รวมทั้งการวางแผนการเล่น การแก้ปัญหาต่างๆด้วยตัวเอง ทั้งการอ่านกรีน ต้องฝึกทำด้วยตัวเอง เพราะเวลาแข่งขันในแม็ทช์ระดับนานาชาติแล้ว จะไม่มีแค๊ดดี้มาคอยช่วยเหลือ ซึ่งสำคัญมาก หากต้องการที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นไปในระดับที่สูงขึ้น
ไอศูรย์ ศิริขันธ์ (โปรแจ๊ค)