ประวัติของชมรมนักกอล์ฟเยาวชนไทยภาคเหนือ
เล่าโดย...ป้าตู๋
จากกิจกรรมของลูก...สู่...ชมรมนักกอล์ฟเยาวชนไทยภาคเหนือ
ดิฉันก็เหมือนแม่คนอื่นๆที่พยายามหากิจกรรมหลังเลิกเรียนที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ และเหมาะสมกับลูกสาวที่เริ่มย่างเข้าสู่วัยรุ่น และเป็นกิจกรรมที่เราสามารถทำร่วมกับเขาได้ ด้วยความที่ชอบกีฬากอล์ฟเป็นการส่วนตัว จึงคิดว่าถ้าให้ลูกหัดเล่นกอล์ฟก็คงจะดี แม้จะเป็นกีฬาที่ยังมีผู้หญิงเล่นน้อย เพราะเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยความอดทนและสมบุกสมบัน ต้องเผชิญสภาพอากาศต่างๆที่มีทั้งแดดและฝน ระยะเวลาการเล่นยาว
ช่วงการฝึกเล่นใหม่ๆของลูก ต้องใช้เวลานั่งเฝ้า ให้กำลังใจ จนลูกสามารถออกรอบได้ เมื่อลูกเล่นได้ดีในระดับหนึ่ง จึงลองพาลงแข่งขันกับเด็กๆนักกอล์ฟเยาวชนที่กรุงเทพฯ ตามคำแนะนำของเพื่อน ซึ่งลูกก็พลอยสนุกไปด้วย
ผลพวงของการพาลูกลงกรุงเทพฯทุกๆ 2 เดือนตั้งแต่ปี 2541 เริ่มจาก คลาส ซี ติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี เพื่อแข่งกอล์ฟระดับเยาวชนเมื่อสิบกว่าปีก่อน ทำให้ดิฉันมีโอกาสรู้จักผู้บริหารชมรมส่งเสริมนักกอล์ฟเยาวชนไทย (ปัจจุบันคือสมาพันธ์นักกอล์ฟเยาวชนไทย) จนกระทั่งปี 2543 บริษัทเคเบิล ทีวี ยูบีซี บรอดแคสติ้ง มีนโยบาย จัดการแข่งขันกอล์ฟเยาวชนให้แก่สมาชิกยูบีซี ทางภาคเหนือ โดยให้ชมรมส่งเสริมนักกอล์ฟเยาวชนไทยเป็นผู้จัดการแข่งขัน ณ สนามกอล์ฟศูนย์กีฬาลานนา จ.เชียงใหม่ จึงมีโอกาสช่วยจัดการเรื่องการแข่งขันและต้อนรับผู้บริหารชมรมส่งเสริมนักกอล์ฟเยาวชนไทย การแข่งขันครั้งนั้นรวบรวมเด็กนักกอล์ฟเยาวชนในเชียงใหม่ได้กว่า 50 คน
ด้วยวิสัยทัศน์ของ ร.ศ.อิราวัณณ์ ผาณิตวงศ์ (ป้าอ้อย) เลขานุการชมรมส่งเสริมนักกอล์ฟเยาวชนไทยที่เห็นว่าภาคเหนือของเรามีศักยภาพที่จะก่อตั้งชมรมนักกอล์ฟเยาวชนขึ้นมาเองได้ จึงแนะนำให้เราจัดตั้งชมรมนักกอล์ฟเยาวชนของภาคเหนือขึ้น โดยพร้อมที่จะช่วยเหลือด้านเทคนิคทุกอย่างในการจัดการแข่งระดับเยาวชนให้ได้มาตรฐานสากล และยินดีให้ใช้ชื่อเดียวกัน
ดิฉันและเพื่อนรัก (อ.อนุชา ชยะกุล นักกอล์ฟที่เล่นกอล์ฟมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ )จึงยินดีรับข้อเสนอนี้ ด้วยเห็นพร้องกันว่าการตั้งชมรมนักกอล์ฟเยาวชนจะเกิดประโยชน์และสร้างให้เด็กในภาคเหนือได้มีโอกาสเป็นนักกอล์ฟเยาวชนที่รู้จักการเล่นที่ได้มาตรฐาน และได้ใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่แล้วคือสนามกอล์ฟที่มีอยู่หลายสนามให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถสร้างนักกอล์ฟเยาวชนให้เพิ่มขึ้น และยังประหยัดค่าใช้จ่ายผู้ปกครองที่จะต้องพาเด็กๆลงไปทดสอบฝีมือถึงกรุงเทพฯ
ในเพียงวันเดียวเราก็สามารถรวบรวมผู้ปกครองและนักกอล์ฟที่มีความรู้เรื่องการจัดการแข่งขันมาประชุมตั้งชมรมขึ้นที่สนามกอล์ฟศูนย์กีฬาลานนา จ.เชียงใหม่ ซึ่งในวันนั้นเป็นโชคดีของเราที่ ฯพณฯ ดร.สุบิน ปิ่นขยัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้เป็นชาวเชียงใหม่และนักกอล์ฟที่เป็นที่เคารพนับถือทั่วไป ได้มาชมการแข่งขันครั้งนั้น ได้ให้เกียรติและยินดีรับเชิญให้เป็นประธานชมรม โดยมอบถ้วยรางวัลใหญ่ 2 ใบเป็นถ้วยเกีรติยศให้แก่แชมป์ประจำปีของชมรมตั้งแต่นั้นมา
เราเริ่มจัดการแข่งขันในเดือนตุลาคม 2543 จัด 3 แมทช์ติดต่อกันเพื่อเก็บคะแนนหาผู้ชนะในคลาสต่างๆไปร่วมแข่งขันระดับเยาวชนนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทยคือ ยูบีซี อินเตอร์เนชั่นแนล จูเนีร์ กอล์ฟ แชมเปี้ยนชิพ (ปัจจุบันคือ ทรูวิชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จูเนียร์ กอล์ฟ แชมเปี้ยนชิพ) ครั้งที่ 1 ณ สนามโรส การ์เดน จ.นครปฐม ในเดือน เมษายน พ.ศ.2544 โดยมีชมรมส่งเสริมนักอล์ฟเยาวชนไทยเป็นผู้จัดการแข่งขัน
จากแมทช์แรกทำให้เราคิดถึงการจัดการแข่งขันให้ต่อเนื่องเพื่อจะสามารถพัฒนาและสร้างนักกอล์ฟเยาวชนชาวเหนือได้ จึงตกลงว่าจะจัดปีละ 6 ครั้ง และหาโควต้าแมทช์ต่างประเทศมาเพิ่ม จนเราสามารถพานักกอล์ฟเยาวชนภาคเหนือไปร่วมแข่งขันที่สิงคโปร์และมาเลเซีย
ปี 2545 เราได้รับความไว้วางใจจากฝ่ายกอล์ฟ สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดชียงใหม่ โดยมีดร.สุขุม สุขพันธ์โพธารามเป็นประธาน ให้เราเป็นฝ่ายคัดเลือกนักกีฬากอล์ฟและนักกีฬากอล์ฟเยาวชนตัวแทนจังหวัดเชียงใหม่ และดูแลทีมนักกีฬากอล์ฟจังหวัดเชียงใหม่ ซี่งเป็นงานระดับจังหวัดที่เราได้เข้าไปมีส่วนร่วม จนถึงปัจจุบัน
งานยุคบุกเบิกไม่ได้อะไรมาง่ายๆ กว่าจะได้สนามแข่งขันแต่ละสนาม กว่าจะจัดแมทช์ได้แต่ละแมทช์ แม้จะเป็นงานอาสาสมัครและไม่มีทุนรอนเลย พวกเรายุคบุกเบิกและรุ่นปัจจุบันก็ไม่เคยย่อท้อ หลายคนทำงานหนักกว่างานประจำ เราทุ่มเทให้งานนี้ด้วยใจรักในกีฬากอล์ฟที่เราเห็นแล้วว่ามีประโยชน์ทั้งในแง่เป็นกีฬา และในแง่การสามารถประกอบเป็นอาชีพได้ เวลาที่เด็กๆใช้ในสนามกอล์ฟก็จะดีกว่าการเล่นเกมส์ หรือเดินห้าง
ประโยชน์ของกีฬากอล์ฟยังมีอีกมากมาย เด็กๆได้ฝึกความอดทน ความมีน้ำใจนักกีฬา ความมีระเบียบวินัยในตัวเอง การวางแผน และความมุ่งมั่น เหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่ไม่มีสอนในโรงรียน เป็นการเรียนรู้จากประสพการณ์ตรง และจะติดตัวไปตลอด โดยไม่ต้องจ้ำจี้จำไช แต่ละแมทช์การแข่งขันเป็นบทเรียนที่เขาเรียนรู้ได้เองเสมอ
เป้าหมายแรกเริ่มของเราคือโรงเรียนอนุบาลเล็กๆที่สร้างกีฬานักกอล์ฟเยาวชนได้รู้จักการเล่นที่ถูกต้องได้มาตรฐานทัดเทียมเยาวชนในเมืองหลวงเท่านั้น แต่เวลาผ่านไปนักกอล์ฟเยาวชนของเราได้ก้าวหน้าจนเป็นนักกอล์ฟอาชีพแล้วหลายคน เช่น โปรเชิงชาย ปั้นพุ่มโพธิ์ ,โปรนนทยา ศรีสว่าง,โปรเทพบดินทร์ อัมระนันท์ ,โปรพิมพ์ภัสสร บ้านนาเดิม,โปรชวลิต กาชัย ,โปรพัทธ์ พรชื่น , โปรธนพล พุฒิพันธ์พฤทธิ์ และอีกหลายๆคนที่มีผลงานระดับชาติและเจริญรอยตามรุ่นพี่
แม้การทำงานของเราจะเป็นเพียงองค์กรเล็กๆ ที่จำกัดอยู่ในวงการกอล์ฟ แต่เราก็รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครอง ถือเป็นงานเกื้อหนุนสังคมในสิ่งที่เราพอจะทำได้ และภูมิใจที่ได้มีส่วนสร้างคนที่มีคุณภาพและปกป้องเด็กเยาวชนลูกหลานของเราให้ไกลจากสิ่งอบายมุขต่างๆที่กลายเป็นปัญหาสังคม
ด้วยการบริหารงานของชมรมแบบองค์กรไม่แสวงกำไรนี้ เชื่อได้ว่าสิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองและบุคคลต่างๆจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่นักกอล์ฟเยาวชนทุกประการ
ธันยา อนุมานราชธน จันทร์วิทัน
กรรมการและเลขานุการ
ภาพย้อนอดีต...กับกิจกรรมของเยาวชนกอล์ฟเมื่อเริ่มก่อตั้งชมรมฯ ใหม่ๆ
พ.ศ.2543-2553 : ชมรมส่งเสริมนักกอล์ฟเยาวชนไทย(ภาคเหนือ)
พ.ศ.2554-2563 : สมาพันธ์นักกอล์ฟเยาวชนไทยภาคเหนือ
พ.ศ.2563 - ปัจจุบัน : ชมรมนักกอล์ฟเยาวชนไทยภาคเหนือ